ศิลปวัฒนธรรมและงานดีไซน์ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2019
PAINKILLER Life พาเดินเล่นชมงาน Chiangmai Design Week 2019 หรือเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยเสน่ห์ล้านนาในแบบเก่า กับเรื่องเล่าและสีสันใหม่ ๆ ที่ผสมกลมกลืนไปกับไลฟ์สไตล์ของทั้งคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจากต่างบ้านต่างเมือง

Chiangmai Clayative Chiangmai Clayative หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ OHMycraft Studio
งานเชียงใหม่ดีไซน์วีค 2019 ที่เพิ่งจบลงไปหมาด ๆ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมนี้ ถือเป็นครั้งที่ 5 เข้าไปแล้ว งานนี้จัดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปีตั้งแต่ปี 2014 เรื่อยมา มีเว้นว่างปีเดียวคือปี 2015 ซึ่งในแต่จะปีก็จะมีธีมหรือเรื่องเล่าที่แตกต่างกันออกไป สำหรับธีมในปีนี้ คือ Better City, Better Life ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำเสนอผลงานศิลปะและนวัตกรรมด้านงานออกแบบของนักออกแบบท้องถิ่นแล้ว ยังถือเป็นการส่งเสริมธุรกิจ ขยายโอกาสทางการค้า แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายของนักออกแบบ ช่างฝีมือ นักวิชาการ และพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่าและชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัด พร้อมกับเปิดรับโอกาสและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จากที่ต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้มีนักออกแบบจากกรุงเทพฯ และต่างประเทศมาร่วมแสดงผลงานในครั้งนี้ด้วย PAINKILLER Life ถือโอกาสไปเที่ยวเชียงใหม่และเก็บภาพไฮไลท์ที่น่าสนใจของงานในครั้งนี้มาให้ชมกัน

A Balancing Act A Balancing Act Treasure of Taiwan
ความน่าสนใจของงานในปีนี้เริ่มกันตั้งแต่บริเวณสถานที่จัดงาน ซึ่งไม่ได้กระจุกอยู่ที่เดียว แต่ยังกระจายออกไปในหลายจุดทั่วเมืองเชียงใหม่ แต่บริเวณที่มีกิจกรรมและงานแสดงอยู่มากที่สุดเห็นจะเป็น TCDC เชียงใหม่ และบริเวณย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งมีงานแสดงใหญ่ ๆ อยู่สามจุด คือ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หอประวัติศาสตร์เชียงใหม่ และพิพิธภัณ์พื้นถิ่นล้านนา ซึ่งปกติทั้งสามอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่เป็นนิทรรศการถาวร ใครมาดูงานดีไซน์วีคก็ถือว่าได้กำไรสองต่อ คือทั้งได้ชมงานดีไซน์สมัยใหม่ และศึกษาความเป็นมาและวิถีชีวิตของเมืองเชียงใหม่ ส่วนของงานดีไซน์วีคนั้นเข้าชมฟรี แต่นิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์นั้นเสียค่าเข้าชมสำหรับคนไทยที่ละ 20 บาท หรือจะซื้อตั๋วเหมารวมเดินชมทั้งสามอาคารเลยก็ได้ ในราคาแค่ 40 บาท

Treasure of Taiwan ‘โรงละครของผม’
โดย ประกิต สีหวงษ์Treasure of Taiwan Sanyi Wooden Sanyi Wooden

Naked Studio Naked Studio Naked Studio Naked Studio Naked Studio
หอศิลปวัฒนธรรมกับงานออกแบบร่วมสมัย
หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ อยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ บริเวณลานด้านหน้าอนุสาวรีย์มีพาวิลเลียนซ้ายขวา ฝั่งหนึ่งแสดงผลงานเซรามิกของกลุ่ม Chiangmai Clayative ที่รวบรวมศิลปินเซรามิกจำนวน 15 ราย ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่มีผลงานโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ อีกฝั่งหนึ่งแสดงผลงานทดลอง Into The Wind ของ วิทยา จันมา ศิลปินที่นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลม โดยเปลี่ยนลมหายใจของคนจากการเป่าลมลงในท่อ แล้วเปลี่ยนรูปแบบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเปิดกลไก ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง เป็นการแสดง ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับตัวงานได้อย่างน่าสนใจ ผู้ชมหลายคนสนุกสนานกับการสร้างประติมากรรมชั่วขณะจากฟองสบู่ที่เกิดจากกำลังลมของตัวเอง

เมื่อเดินเข้ามาในรั้วอาคาร มีบูธจัดแสดงงานของศิลปินและนักออกแบบกระจายโดยรอบ มีทั้งงานคราฟต์อย่างประติมากรรมดอกไม้จากเศษกระดาษเหลือใช้ของ OHMyCraft Studio บันทึกจากการเดินทางที่รวบรวมความคิดสู่ผลงานการออกแบบสร้างสรรค์ของหัตถกรรมต่างวัฒนธรรมของ Fabien Jouvin หรือบูธ A Balancing Act ที่เป็นการรวบรวมผลงานของนักออกแบบไต้หวัน ที่ว่าด้วยเรื่องการผสมผสานงานหัตถกรรมท้องถิ่นกับการออกแบบสมัยใหม่ ผ่านวัสดุ เทคนิค และนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดเป็นผลงาน Modern Carft ที่น่าสนใจ ถือเป็นครั้งแรกของกลุ่มดีไซเนอร์จากไต้หวันที่มาร่วมในงานเชียงใหม่ดีไซน์วีคนี้

ภายในตัวอาคาร สถาปัตยกรรมล้านนาที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมตะวันตกอย่างสวยงาม (สำหรับเงิน 20 บาท แค่ชมตัวตึกก็คุ้มแล้ว) ภายในนอกจากนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงของทางพิพิธภัณฑ์เองแล้ว ยังมีส่วนจัดแสดงงานสำหรับงานดีไซน์วีคครั้งนี้ด้วย มีห้องจัดแสดงนิทรรศการ Treasure of Taiwan โดยความร่วมมือของกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน นำเสนอผลงานสมบัติแห่งชาติชิ้นเอกของไต้หวัน และผลงานสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ เครื่องเขิน งานดีบุก สิ่งทอพื้นเมือง รวมไปถึงงานไม้แกะสลักที่มีทั้งแบบดั้งเดิมและงานดีไซน์ร่วมสมัย โดย Sanyi Wooden Museum
ด้านนอกอาคารมีงานประติมากรรมของประกิต สีหวงษ์ ที่ชื่อ ‘โรงละครของผม’ ที่เปลี่ยนเศษเหล็กเก่าเหลือใช้ที่จวนจะกลายเป็นขยะให้กลายเป็นกลุ่มประติมากรรมหน้ากากหลากหลายรูปแบบ ที่เป็นได้ทั้งงานศิลปะและงานตกแต่งบ้าน


ชั้นบนของอาคารมีงานที่น่าสนใจมาก ๆ ของกลุ่มนักออกแบบไทยในชื่อ Naked Studio เหมือนจะเป็นกลุ่มนักออกแบบหน้าใหม่ แต่ที่จริงคือผู้ที่คร่ำหวอดในวงการอื่น ๆ มานาน แต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อนำเสนอคอลเลกชั่นผลงานการออกแบบตกแต่งร่วมกันเป็นครั้งแรก ประกอบด้วย รศ. น้ำฝน ไล่ศัตรูไกล ที่นำเอาตุ๊กตาผ้าหน้าตาประหลาดสีสันสดใสมาสร้างสรรค์เป็นงานตกแต่งได้อย่างน่าสนใจ อีกคนคือคุณชลิต นาคพะวัน ศิลปินที่หลายคนคุ้นเคยกันดี กับการนำเอาเทคนิคงานคราฟท์แบบดั้งเดิมมาสร้างผลงานออกแบบร่วมสมัยที่เกิดจากการขุด เจาะ แกะสลัก และสร้างลวดลายบนไม้ด้วยการเขียนลายและเผา ถือเป็นการเปิดตัวในฐานะดีไซเนอร์ได้อย่างสวยงาม เช่นเดียวกับคุณชัยชน สวันตรัจฉ์ แฟชั่นดีไซเนอร์ ที่เปิดตัวผลงานออกแบบของแต่งบ้านครั้งแรกกับโคมไฟหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานทองเหลืองเข้มขลัง และโคมไฟระย้าที่สร้างจากวัสดุคุ้นตาจากวิถีชีวิต คติความเชื่อ และวัฒนธรรมของคนเมือง
หอประวัติศาสตร์เชียงใหม่และการสืบสานงานช่างฝีมือ
ด้านหลังของหอศิลปวัฒรธรรมเชียงใหม่ มีอาคารอีกหลังคือหอประวัติศาตร์เมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีพาวิลเลียนแสดงผลงานกระจายอยู่รอบ ๆ ตัวอาคารเช่นกัน ส่วนใหญ่จะเน้นพวกงานศิลปะหัตถกรรมเป็นหลัก ทั้งที่เป็นผลงานของกลุ่มช่างฝีมือท้องถิ่นในแบบดั้งเดิม และงานที่ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค รวมไปถึงการจัดเวิร์คช็อปงานฝีมือจากกลุ่มผู้เข้าร่วมแสดงงาน ที่มาถ่ายทอดความรู้และเทคนิคงานช่างฝีมือให้กับผู้เข้าชมงาน

หลากวัสดุและไอเดียของการออกแบบที่พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา
Tops of Design by Design and Object Association Sprang Baanchaan Yothaka Ryo Yamazaki
ข้ามถนนมาอีกฝั่งหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนาซึ่งตัวอาคารคือที่ทำการศาลเก่า ภายในนอกจากจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นล้านนาแล้ว ยังคงมีการอนุรักษ์ห้องที่เป็นส่วนของศาลดั้งเดิมไว้ให้ชมกันด้วย ภายในตัวอาคารนี้ไม่มีการจัดแสดงผลงานดีไซน์วีค แต่รอบอาคารก็มีงานแสดงที่น่าสนใจอย่าง Tops of Design ที่เป็นการรวบรวมงานออกแบบจาก Design and Object Association ที่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ขึ้นมาตามเอกลักษณ์และสไตล์ของแต่ละแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Sprang แบรนด์เครื่องประดับที่นำเอางานเครื่องประดับโลหะทองเหลืองที่เป็นเอกลักษณ์มาอยู่บนโต๊ะหน้าท็อปไม้ดิบ ๆ , Baanchaan กับงานสานดีไซน์พลิ้วไหว, Yothaka โดยสุวรรณ คงขุนเทียน กับงานสานวัสดุร่วมสมัยสีสันสดใส หรืองานของศิลปินรับเชิญ Ryo Yamazaki กับผลงาน ‘เขาสนทนา’ ที่แปลงโต๊ะแบบคุ้นเคยให้กลายเป็นภูเขาเส้นสายเราขาคณิต แทรกฟังก์ชั่นการใช้งานใหม่ๆเข้าไปในโครงสร้าง

ผลิตภัณฑ์จากเศษไม้เหลือใช้ ผลิตภัณฑ์จากเศษไม้เหลือใช้ ผลิตภัณฑ์จากเศษไม้เหลือใช้และขยะพลาสติก นิทรรศการที่หอภาพถ่ายล้านนา นิทรรศการที่หอภาพถ่ายล้านนา
ส่วนพาวิลเลียนของกลุ่มศิลปินและนักออกแบบท้องถิ่นก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะนวัตกรรมเรื่องวัสดุในแบบอีโค ได้แก่ กระเบื้องโมเสกที่ทำจากฟางข้าวของ Wasoo ที่มีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงและกันความร้อน ไม่ลามไฟ และป้องกันปลวก, การนำเศษไม้เหลือใช้จากการผลิตสินค้าต่างๆ นำมาเข้าสู่กระบวนการขึ้นรูปใหม่เพื่อการนำกลับมาใช้แบบไม่เหลือเศษ รวมไปถึงของตกแต่งจากเศษขยะพลาสติกเหลือใช้

ในพื้นที่เดียวกันนี้ยังมีอาคารไม้เก่าสองชั้นที่เป็นที่ตั้งของหอภาพถ่ายล้านนา ในงานนี้จัดแสดงผลงานภาพถ่ายของอาจารย์และนักศิกษา ที่เล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองเชียงใหม่ผ่านภาพถ่ายหลากหลายเทคนิค นอกจากนี้ด้านหน้ายังมีเวิร์คช้อป Slow Food ที่เป็นการสะท้อนถึงวัฒนธรรมเรื่องอาหารและการกินของท้องที่อีกด้วย
Showcase ที่ TCDC เชียงใหม่

TCDC เชียงใหม่ TCDC เชียงใหม่ เฟอร์นิเจอร์ของศรัณย์ เย็นปัญญา Maggi Studio Renim Project
จุดแสดงงานสำคัญที่ขาดไม่ได้เห็นจะเป็นที่ TCDC เชียงใหม่ ภายในมีนิทรรศการชวนคิดที่ชื่อว่า ‘อันไหนดี?’ เป็นการนำเสนอการคัดสรรชิ้นงานหัตถกรรมที่ยังคงมีการใช้งานอยู่จริงในชีวิตประจำวันของเขตภาคเหนือตอนบน สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในท้องที่ในด้านต่างๆ โดยการเปรียบเทียบรูปแบบของใช้ดั้งเดิมกับวิวัฒนาการของหน้าตาและวัสดุในเชิงตั้งคำถามแก่ผู้ชม กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถาม อภิปราย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์

ที่อาคารข้าง ๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสมาคาส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีลานนาไทย เชียงใหม่ จัดแสดงนิทรรศการ Art Dialogue นำเสนอ 9 ผลงานออกแบบ จากศิลปินและดีไซเนอร์จากต่างสาขา ที่ร่วมตีความปรัชญาความเป็นไทยขึ้นมาใหม่ บนพื้นฐานของความคิด ความเชื่อ และมุมมองที่แตกต่างกัน ผ่านผลงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น โคมไฟเซรามิก ของ Maggi Studio ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาชนะดินเผาซึ่งถือเป็นงานหัตกรรมขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของภาคเหนือ หรือกระเป๋าสาน Renim Project ของ ทรงวุฒิ ทองทั่ว ที่สานขึ้นมาจากผ้ายีนส์เก่า และเสื้อยืดมือสอง รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ที่หุ้มบุด้วยผ้าลวดลายคุ้นตากลิ่นอาย Kitsch ของศรัณย์ เย็นปัญญา โดยทั้งหมดมีธีระ ฉันทสวัสดิ์ เป็นคิวเรเตอร์ของนิทรรศการนี้

นอกเหนือจากนิทรรศการที่น่าสนใจแล้ว บริเวณ TCDC นี้ยังมีเวิร์คช็อปต่าง ๆ รวมไปถึงตลาดนัด Pop Market ในช่วงเย็น ให้คนที่มาชมงานเดินเล่นช็อปปิ้งกินขนมพร้อมฟังเพลงเพราะ ๆ ไปพร้อมกัน
เรียกได้ว่าใครที่มาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปีต่อไปนี้ นอกจากจะได้เดินเล่นชมเมือง อิ่มอร่อยกับอาหารเหนือ ในบรรยากาศของลมหนาวที่เย็นสบายแล้ว ยังจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการดื่มด่ำไปกับวัฒนธรรมร่วมสมัยที่กระจายตัวไปอยู่ทั่วทุกมุมเมือง แพลนการเดินทางและเซฟวันหยุดปลายปีกันเอาไว้ให้ดี พร้อมติดตามข่าวคราวและรายละเอียดของงานเชียงใหม่ดีไซน์วีคครั้งต่อ ๆ ไปได้ที่ https://chiangmaidesignweek.com